วันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2556




รามเกียรติ์ เป็นวรรณคดีสำคัญเรื่องหนึ่งของไทย โดยมีต้นเค้าจากวรรณคดีอินเดีย คือมหากาพย์รามายณะที่ฤๅษีวาลมีกิชาวอินเดีย แต่งขึ้นเป็นภาษาสันสกฤต

ประวัติ
       ต้นเค้าของเรื่องรามเกียรติ์น่าจะมาจากเรื่องรามายณะ ของอินเดีย ซึ่งเป็นนิทานที่แพร่หลายอยู่ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียใต้ ต่อมาอารยธรรมอินเดียได้แพร่หลายเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พ่อค้าชาวอินเดียได้นำอารยธรรมและศาสนาเข้ามาเผยแพร่ด้วย ทำให้เรื่องรามายณะแพร่หลายไปทั่วภูมิภาค กลายเป็นนิทานที่รู้จักกันเป็นอย่างดี และได้ปรับเปลี่ยนเนื้อหาให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมของประเทศนั้นจนกลายเป็นวรรณคดีประจำชาติไป ดังปรากฏในหลายๆชาติ เช่น ลาว พม่า เขมร มาเลเซีย อินโดนีเซีย ล้วนมีวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์เป็นวรรณคดีประจำชาติทั้งสิ้น

ผู้แต่ง
     สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

ลักษณะการแต่ง  
     กลอนบทละคร

ระยะเวลาในการแต่ง 
     รามเกียรติ์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้นมีระยะเวลาในการแต่งเพียง 2 เดือนเท่านั้น จึงมีเพียง 4 ตอน
ตอนที่ 1 ตอนพระมงกุฎประลองศร 
ตอนที่ 2 ตอนหนุมานเกี้ยวนางวาริน 
ตอนที่ 3 ตอนท้าวมาลีวราชว่าความ  
ตอนที่ 4 ตอนทศกัณฐ์ตั้งพิธีทรายกรด

ตัวละครเอกในเรื่อง



พระราม


พระลักษณ์ น้องพระราม


นางสีดา



ทศกัณฐ์



หนุมาน


สุครีพ


พิเภก น้องทศกัณฐ์ แต่มาเข้าฝ่ายพระราม

ตอนที่ 1 ตอนพระมงกุฎประลองศร 
นางสีดามาอาศัยอยู่กับฤาษีวัชมฤคและประสูติพระมงกุฎ พระฤาษี 
ได้ชุบพระลบเป็นเพื่อนกับพระมงกุฏและชุบศรให้เป็นอาวุธพระมงกุฏและ
พระลบได้ประลองศรยิงต้นรัง เสียงศรดังกึกก้องจนถึงกรุงอโยธยาพระราม
ได้ยินเสียงจึงประกอบพิธีอัศวเมธ โดยมีพระภรต พระสัตรุด และหนุมาน
คุมกองทัพตามม้าอุปการ พระมงกุฎจับม้าอุปการ จึงรบกับหนุมาน หนุมาน
เสียที พระภรตจึงเข้าช่วยและจับพระมงกุฎมาถวายพระราม พระลบตามไป
ช่วยได้และพากันหนี พระรามยกกองทัพออกติดตาม จึงรบกับพระมงกุฎ
ภายหลังจึงทราบว่าเป็นพ่อลูกกัน



ตอนที่ 2 ตอนหนุมานเกี้ยวนางวาริน 
เนื้อเรื่องตอนแรกขาดหายไป เริ่มแต่หนุมานตามไปฆ่าวิรุณจำบัง ได้พบนางวารินในถ้ำ นางวารินนั้นเป็นนางฟ้าถูกพระอิศวรสาปให้มาอยู่ในถ้ำ คอยพบหนุมานเพื่อบอกทางแก่หนุมานไปฆ่าวิรุณจำบัง แล้วจึงจะพ้นคำสาป เมื่อหนุมานพบนางวาริน นางไม่เชื่อว่าเป็นหนุมาน หนุมานจึงต้องหาวเป็นดาวเป็นเดือนให้ดู เมื่อนางเชื่อว่าเป็นทหารของพระรามจริง นางจึงบอกว่าวิรุณจำบังหนีไปซ่อนตัวอยู่ในฟองสมุทร หนุมานเกี้ยวนางวารินและได้นางเป็นภรรยา ต่อมาหนุมานไปฆ่าวิรุณจำบังตามที่นางวารินบอก เมื่อฆ่าวิรุณจำบังแล้ว หนุมานจึงกลับมายังถ้ำ และส่งนางวารินกลับเขาไกรลาสตามที่ได้สัญญาไว้กับนาง


ตอนที่ 3 ตอนท้าวมาลีวราชว่าความ  

     เป็นตอนต่อจากหนุมานเกี้ยวนางวาริน ทศกัณฐ์ทราบว่าวิรุณจำบังตาย จึงทรงทูลเชิญท้าวมาลีวราชพระอัยกาผู้มีวาจาสิทธิ์มาว่าความท้าวมาลีวราชจึงเสด็จมายังสนามรบเพื่อไกล่เกลี่ย ทศกัณฐ์เข้าเฝ้ากล่าวโทษพระรามในทันที ท้าวมาลีวราชจึงทรงตรัสสั่งให้พระรามและนางสีดาเข้าเฝ้าเพื่อไต่ถามความจริง นางสีดาทูลตามความเป็นจริง ท้าวมาลีวราชจึงตรัสให้ทศกัณฐ์คืนนางสีดาแก่พระราม แต่ทศกัณฐ์ไม่ยอม ท้าวมาลีวราชจึงทรงสาปแช่งทศกัณฐ์ให้ตายด้วยลูกศรของพระราม และอวยพรให้พระรามเจริญรุ่งเรือง แล้วเสด็จกลับ

ตอนที่ 4 ตอนทศกัณฐ์ตั้งพิธีทรายกรด 
ตอนนี้เป็นตอนต่อจากท้าวมาลีวราชว่าความ เรื่องมีว่า ทศกัณฐ์มีความแค้นเทวดาที่เป็นพยานให้แก่พระราม จึงทำพิธีปลุกเสกหอกกบิลพัทที่เชิงเขาพระสุเมรุ และทำพิธีเผารูปเทวดา พระอิศวรจึงมีเทวบัญชาให้เทพบุตรพาลีมาทำลายพิธี ทศกัณฐ์พุ่งหอกกบิลพัทหมายสังหารพิเภก พิเภกหลบไปอนยู่หลังพระลักษณ์ พระลักษณ์ต้องหอกกบิลพัทสลบไป พิเภกทูลพระรามให้หายามาแก้ไขพร้อมแม่หินบดยาที่เมืองบาดาล และลูกหินบดยาที่ทศกัณฐ์หนุนนอน พระรามให้หนุมานไปหายาพร้อมแม่หินและลูกหิน หนุมานเข้าเมืองลงกาเพื่อไปนำลูกหินบดยามา และผูกผมทศกัณฐ์กับผมนางมณโฑไว้ด้วยกัน และสาปแช่งไว้ว่า ถ้าต้องการให้หลุดจากกัน ทศกัณฐ์ต้องยอมให้นางมณโฑชกศีรษะสามที ผมของทั้งสองฝ่ายจึงจะหลุดจากกัน แต่ในที่สุด พระฤาษีโคบุตรต้องมาช่วยแก้ผมให้

คุณค่าด้านวรรณศิลป์

๑. การสรรคำ การใช้คำที่หลากหลายในการสื่อความหมายถึงตัวละครแต่ละตัว ซึ่งการสรรคำจะทำให้ผู้อ่านไม่เกิดความเบื่อหน่าย เพราะหากไม่มีการสรรคำก็จะต้องใช้สรรพนามแทนตัวละครหนึ่งๆซ้ำๆ กันอยู่ตลอดเวลา ซึ่งอาจทำให้เรื่องราวลงได้
            คำที่มีความหมายว่า  พระราม, พระนารายณ์
 -  พระจักรี , สมเด็จพระเชษฐา , พระสี่กร , พระตรีภูวนาถทรงศร , พระภูธร
            คำที่มีความหมายว่า  นางสีดา
-  สมเด็จพระลักษมี , องค์กัลยา
            คำที่มีความหมายว่า ทศกัณฐ์
-  ทศเศียรสุริย์วงศ์ , ท้าวยี่สิบกร     

๒. การเล่นคำซ้ำ ทำให้เกิดความไพเราะและเสริมความงดงามของบทประพันธ์ ซึ่งในเรื่องรามเกียรติ์นี้ พบเป็นจำนวนมาก เช่น

                        บัดนั้น                                 ปักหลั่นสิทธิศักดิ์ยักษี                      
    ถาโถมโจมจ้วงทะลวงตี                         ด้วยกำลังอินทรีย์กุมภัณฑ์                  
    ต่างถอยต่างไล่สับสน                             ต่างตนฤทธิแรงแข็งขัน                       
    สองหาญต่อกล้าเข้าโรมรัน                    ต่างตีต่างฟันไม่งดการ

๓. การหลากคำ หรือคำไวพจน์   การเลือกใช้คำที่เขียนต่างกันแต่ความหมายเหมือนกัน เช่น

- คำที่มีความหมายว่า     โกรธ    ได้แก่  โกรธ  โกรธา  กริ้ว         
- คำที่มีความหมายว่า     ม้า        ได้แก่ พาชี มโนมัย สินธพ อาชาไนย อัสดร นฤเคนทร์ สีห์
- คำที่มีความหมายว่า     ศัตรู     ได้แก่ ไพรี ปัจจามิตร ปรปักษ์ อรินทร์ ไพริน อริ อัสดร เวรี
- คำที่มีความหมายว่า     ภูเขา    ได้แก่ บรรพต สิงขร พนม คีรี

คุณค่าด้านเนื้อหา

ตัวละครในเรื่องแสดงถึงคุณธรรม ที่เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต   เช่น
          ๑. พระรามเป็นบุตรที่มีความกตัญญูต่อบิดามารดา โดยยอมออกเดินป่าเป็นเวลาถึง ๑๔ ปี เพื่อรักษาคำสัตย์ของบิดา
         ๒. ทั้งในเรื่องความยุติธรรมของท้าวมาลีวราช ที่ไม่เข้าข้างฝ่ายทศกัณฐ์ซึ่งเป็นหลานของตน แต่ฟังความจากทุกฝ่าย เพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ทุกคน
         ๓. การไม่เห็นแก่พวกพ้องจนเสียความยุติธรรม เห็นได้จากสุครีพ ที่สาบานเป็นเพื่อนตายกับพิเภก แต่เมื่อได้รับบัญชาให้สอบสวนนางเบญจกาย ซึ่งปลอมตัวเป็นนางสีดาตายลอยน้ำมาลวงพระราม สุครีพสอบสวนความได้ว่า นางเป็นธิดาของพิเภก จึงเชื่อคำให้การของนางเบญจกาย แต่ก็ให้นางเข้าพบพระรามเพื่อตัดสินคดี ไม่ปล่อยให้นางเป็นอิสระทันที
        ๔. ความกล้าหาญในการรบของหนุมานและสุครีพ ที่ต่อสู้กับศัตรูอย่างกล้าหาญ

คุณค่าด้านสังคม

            ๑. วัฒนธรรมและประเพณี ได้แก่ การทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ประเพณีการจัดทัพและการตั้งค่าย ความเชื่อเรื่องโชคลาง และการบูชาบวงสรวงเทวดา เช่น 
พิธีปรุงข้าวทิพย์ ความเชื่อเรื่องโชคลางในการหาฤกษ์ยามที่เหมาะสม ในการออกทัพ เป็นต้น
           ๒. การเข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์ ตัวละครแต่ละตัว  เป็นตัวแทนของมนุษย์ทั่วไป  ที่มีความ รัก โลภ โกรธ หลง
           ๓. เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ชื่อเมืองและสถานที่หลายๆแห่งในเรื่องรามเกียรติ์นั้น ร่วมสมัยกับเมืองไทยในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เช่นเมืองอยุธยา เมืองบุรีรัมย์ แม่น้ำสะโตง นอกจากนั้นเทคโนโลยีก็ร่วมสมัยกัน เช่นมีการกล่าวถึงอาวุธปืน นอกจากนั้นระบบการปกครองในรามเกียรติ์ ยังเป็นระบบการปกครองแบบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เก่า ที่เจ้าเมืองขึ้น ยอมสยบต่อเมืองแม่เป็นทอดๆ โดยการเคารพใน 'บุญ' ของพระมหากษัตริย์เป็นหลัก
         ๔. สอดแทรกมุมมองของปราชญ์ไทย เช่น เมื่อกุมภกรรณออกรบกับพระรามนั้น ได้ตั้งปริศนาถามพระรามไว้ว่า ถ้าพระรามตอบได้จะยอมเลิกทัพกลับปริศนาถามว่า ชีโฉด หญิงโหด ช้างงารี ชายทรชน สี่อย่างนี้คืออะไร พระรามตอบไม่ได้ จึงใช้องคตมาถาม กุมภกรรณจึงเฉลยว่า
หญิงโหด   คือ  นางสำมะนักขา ที่คิดได้พระรามเป็นสามี พอไม่ได้ จึงยุยงให้พี่น้องมารบกับพระรามจนเกิดเรื่อง
ช้างงารี      คือ  ทศกัณฐ์ ที่เกะกะอันธพาล ไปแย่งภรรยาคนอื่น
ชีโฉด         คือ  พระราม ที่มาแย่งชิงนางสีดากลับ ถึงกับยกทัพใหญ่มาทำศึก ทำให้คนบริสุทธิ์มากมายต้องเดือดร้อน
ชายทรชน  คือ  พิเภก ที่ไม่รู้จักบุญคุณพี่น้อง ไปบอกความลับของฝ่ายลงกาแก่ศัตรู  เหมือนแกล้งฆ่าพี่น้องทุกคน

           คำบริภาษนี้เป็นของปราชญ์ไทยแต่งขึ้น ไม่มีในรามายณะต้นฉบับ โดยแสดงให้เห็นถึงความยุติธรรมตามมุมมองของกุมภกรรณ หรือ อาจเรียกได้ว่าเป็นมุมมองของกวีที่สอดแทรกไว้ก็ได้







ที่มา http://krungthonburi.exteen.com/page
http://www.thaigoodview.com/node/5848
https://sites.google.com/site/nepdark/moral

2 ความคิดเห็น: